วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรือนพื้นบ้านชาวประมง

เรือนพื้นบ้านชาวประมง

         ผู้มีอาชีพประมงอาศัยการจับสัตว์น้ำ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ และตามลำน้ำทั่วไป โดยจะตั้งหมู่บ้าน ตามสภาพภูมิประเทศ ที่เอื้ออำนวยต่อความสะดวก ในการดำรงชีวิต เช่น แถบปากแม่น้ำ ริมขอบทะเลอ่าวไทย ตามเกาะชายฝั่งในมหาสมุทรอินเดีย แถบอ่าวภูเก็ต และทะเลอันดามัน นอกจากนั้น สภาพลมฟ้าอากาศก็มีผลต่อการเกิด โยกย้าย และเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านดังกล่าวด้วย
  
   จากสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพลมฟ้าอากาศนี้ ทำให้เกิดหมู่บ้านชาวประมงขึ้นได้ ๒ ลักษณะ
   ๑. หมู่บ้านริมทะเล
         เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้น จากผลของการประกอบอาชีพโดยตรง เพราะชาวประมงจะเลือกทำเลในการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม
แล้วจึงตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมทะเลนั้นๆ เพื่อสะดวกในการออกทะเลทุกวัน และสะดวกในการนำเรือเข้าออก เมื่อเวลาออกจับสัตว์น้ำ และนำขึ้นฝั่ง เพื่อส่งไปจำหน่ายเป็นสินค้า หมู่บ้านจะขยายตัวไปตามความยาวของชายฝั่งทะเล การเลือกที่ตั้งหมู่บ้านเหล่านี้ มักจะพยายามหลบลมมรสุม โดยหาที่ตั้งที่เป็นอ่าว มีภูเขากำบัง หรือมีหมู่ต้นไม้ใหญ่บังลม เช่น ดงมะพร้าว ดงแสม และป่าโกงกาง เพื่อทำหน้าที่เป็นแนวต้านลม หมู่บ้านเหล่านี้มีทั้งชาวประมงน้ำตื้น (จับสัตว์น้ำตามชายฝั่ง) และประมงน้ำลึก ส่วนมากเป็นประมงน้ำตื้น เพราะประมงน้ำลึก ต้องใช้ทุนในการประกอบอาชีพสูง ประมงน้ำตื้นนี้ จึงทำให้เกิดลักษณะเรือนชาวประมงริมทะเลขึ้นอีกแบบหนึ่ง เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยให้กับเครื่องมือจับสัตว์น้ำ คือ มีการสร้างสะพานทางเดินให้ยาวทอดออกไปริมทะเลสุดชายหาด และตรงปลายสะพานจะมีเรือนพักสินค้าหลังใหญ่ใช้ร่วมกัน เรียกว่า "โรงโป๊ะ" เนื่องจากใช้โป๊ะเป็นเครื่องมือจับปลา ส่วนช่วงระหว่างสะพานทำเป็นที่จอดเรือขนส่งสินค้า
   ๒.หมู่บ้านริมแม่น้ำลำคลอง
         เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กับทางออกสู่ทะเล บริเวณปากแม่น้ำ หรือปากคลอง และขยายตัวเป็นแถวลึกเข้าไป เป็นทำเลที่เหมาะในการตั้งบ้านเรือน เพราะหลบลมมรสุมได้ดี เรือนพักอาศัยสามารถต่อเติมชายคายื่นยาวได้มาก แต่ต้องทำท่าน้ำขนส่งสินค้าหลายระดับ เพื่อความเหมาะสมในเวลาน้ำขึ้น และน้ำลง

ลักษณะเรือนพื้นบ้านชาวประมง
         เรือนพื้นบ้านชาวประมง เป็นเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมทะเลอ่าวไทย เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และเกาะลันตา กระบี่ เป็นต้น เป็นเรือนยกใต้ถุงสูงประมาณ ๓ เมตร ประเภทเรือนเครื่องผูกผสม ชนิดครึ่งน้ำครึ่งบก หรือชนิดบนบก หลังคาทรงจั่วมุงด้วยจาก โครงไม้ทั่วไปเป็นไม้ไผ่ เสาเดิมเป็นไม้ไผ่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นไม้เบญจพรรณ (ไม้จริง หรือไม้เนื้อแข็ง) พื้นเดิมเป็นพื้นฟาก ต่อมาเปลี่ยนเป็นพื้นไม้จริง ฝาไม้ไผ่ขัดแตะโปร่ง ระบายอากาศได้ดี ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง ด้านหนึ่งทำเป็นชานลดระดับ มีสะพานทางเดินติดต่อไปยังกลุ่มเรือนหลังอื่นๆ ซึ่งเป็นเครือญาติ หรือเพื่อนบ้าน ด้านที่ติดชานจะลดระดับทำท่าน้ำเทียบเรือ ด้านหนึ่งของเรือนที่หันออกสู่แม่น้ำ หรือทะเล จะปักเสาไม้ไผ่ไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อกันคลื่น มีชานกว้างด้านหน้า นอกจากจะใช้ประโยชน์ขนสินค้าขึ้นลงแล้ว ยังใช้พื้นที่นี้ตากปลาที่ทำเค็มไว้ให้แห้ง ตลอดจนเก็บหมักสินค้าบางชนิดด้วย การประกอบอาชีพเจริญขึ้นตามลำดับ ทำให้ชาวประมงที่อยู่เรือนเครื่องผูกชั่วคราว มีฐานะดีขึ้น ได้เปลี่ยนเป็นเรือนไม้จริงถาวรในภายหลังเป็นจำนวนมาก
 แหล่งที่มาข้อมูล   :  http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=13&chap=1&page=t13-1-infodetail05.html

เรือนไทยภาคใต้

เรือนไทยภาคใต้


 

เรือนไทยภาคใต้ที่พบเห็นทั่วไปในภาคใต้แบ่งออกเป็น
     1.เรือนเครื่องผูก
     2.เรือนเครื่องสับ
     3.เรือนก่ออิฐฉาบปูน
         โดยเอกลักษณ์ของเรือนภาคใต้อยู่ที่หลังคาเรือนและ เสาเรือนจะเป็นเสาไม้ตั้งบนฐานคอนกรีตเหตุเพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเกิดพายุไต้ฝุ่น พายุฝน ลมแรงเสมอ จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง ลักษณะเรือนไทยเป็นเรือนยกพื้นสูง แต่ว่าไม่สูงจนเกินไป พอที่จะเดินลอดได้เรือนไทยภาคใต้ แบ่งเป็น 2 บริเวณ คือ แถบชายทะเลด้านใน คือ ชายทะเลฝั่งตะวันออกซึ่งติดกับอ่าวไทย และแถบชายทะเลด้านนอก คือชายทะเลฝั่งตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอันดามัน โดยที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทยเป็นชุมชนที่เก่าแก่มากกว่าฝั่งตะวันตก บ้านเรือนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก มักเป็นเรือนหลังคาหน้าจั่วทรงสูงแบบเรือนไทยภาคกลาง แต่ไม่นิยมทำปั้นลมและตัวเหงา
หลังคาเรือนไทยภาคใต้มี 3 ลักษณะคือ
   หลังคาจั่ว
         ในชุมชนที่ประกอบอาชีพกสิกรรมและประมงจะปลูกสร้างเรือนหลังคาทรงจั่ว ไม่มีการตกแต่งหน้าจั่ว วัสดุมุงหลังคาส่วนใหญ่ใช้จาก แต่บางเรือนที่มีฐานะดีจะ มุงกระเบื้องเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ความลาดชันของหลังคาขึ้นอยู่กับวัสดุมุง หลังคาในท้องถิ่นนั้นว่าจะใช้กระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องขนมเปียกปูนหรือมุง แฝกจากเรือนเครื่องผูกหลังคาทรงจั่วปลูกสร้างง่ายด้วยตนเอง โยกย้ายได้ง่ายวัสดุ หาง่าย ส่วนเรือนเครื่องสับ สำหรับผู้มีฐานะดีหลังคาจั่วเป็นรูปตรงทรงไม่สูงตกแต่งหน้าจั่วยอด จั่วมุงนั้นด้วยกระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยมเชิงชาย และช่องลมใต้เพดานแต่งด้วยไม้ฉลุสวยงาม ตัวเรือนใต้ถุนยกสูงมีระเบียงและนอกชานลดหลั่นกัน
   หลังคาปั้นหยา
         มีความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาเป็นพิเศษหลังคาตรงหัวท้ายเป็นรูปลาด เอียงแบบตัดเหลี่ยมหลังคามุงกระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยม ตรงรอยตัดเหลี่ยมหลังคา ครอบด้วยกันน้ำฝนรั่ว หลังคาแบบนี้โครงหลังคาแข็งแรงมากสามารถทนรับ ฝนและต้านแรงลม หรือพายุไต้ฝุ่นได้ดีมาก ส่วนใหญ่อยู่ทางจังหวัดสงขลา
   หลังคามนิลา หรือ หลังคาบรานอร์
          หรือแบบรานอร์เป็นการผสมผสานหลังคาจั่วผสมหลังคาปั้นหยาคือส่วนหน้าจั่ว ค่อนข้างเตี้ยจะเป็นจั่วส่วนบนส่วนล่างของจั่วจะเป็นหลังคาลาดเอียงลงมารับกับ หลังคาด้านยาวซึ่งลาดเอียงตลอดเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง เรือนแบบนี้ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปัตตานี โดยส่วนมากจะเป็นบ้านที่มีหลังคาแบบมนิลาหรือบรานอร์ และเพิ่มเติมลายไม้กลมฉลุไม้ที่ส่วนยอดซึ่งพบมากในชุมชนชาว ไทยมุสลิมหลังคาทั้ง 4 แบบ มีอยู่ทั่วไปแต่สัดส่วนของหลังคาจะมีทรงสูงต่ำอย่างไรขึ้นอยู่กับช่างก่อสร้างและวัสดุมุงหลังคาในท้องถิ่นนั้น เช่น ถ้าใช้กระเบื้องดินเผา หรือใช้ กระเบื้องขนมเปียกปูน หรือ มุงแฝกจาก ความลาดชันของหลังคาจะไม่เท่ากัน
ลักษณะทั่วไปของเรือนไทยในภาคใต้
         เรือนส่วนใหญ่จะวางเสาไว้บนตอหม้อตีนเสาซึ่งจะก่ออิฐฉาบปูนเมื่อต้องการจะทำการย้ายบ้านก็จะ ปลดกระเบื้องลงตีไม้ยึดโครงสร้างเสาเป็นรูปกากบาทแล้วใช้คนหามย้ายไปตั้งในที่ที่ต้องการนำกระเบื้องขึ้นมุงใหม่ ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ในการก่อสร้างรูปทรงของเรือนเป็นเรือนไม้ ใต้ถุนสูงประมาณคนก้มตัวลอดผ่านได้ เสาทุกต้นไม่ฝังลงดินเพราะว่าดินมันชื้น และก็จะทำให้เสาผุเร็ว แต่จะตั้งอยู่บนแผ่นปูนหรือแผ่นหินเรียบ ๆ ที่ฝังอยู่ ในดินให้โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินไม่เกิน 1 ฟุต เพื่อกันมิให้ปลวกกัดตีนเสาและกันเสาผุจากความชื้นของดิน ตีนเสา ตอนล่างห่างจากพื้นดิน ประมาณ 1- 2 ฟุตจะมีไม้ร้อยทะลุเสาทุกต้นตามความยาวของเรือนทั้ง 3 แถวเพื่อทำหน้าที่ยึดโครงสร้างของเรือนให้แข็งแรงมากขึ้น  ตัวเรือนกั้นฝาด้วยแผ่นกระดานตีเกร็ดตามแนวนอน กั้นห้องสำหรับเป็นห้องนอน 1 ห้อง อีกห้องหนึ่งปล่อยโล่ง ด้านหน้าบ้านมีระเบียงด้านข้าง เรือนเครื่องสับในภาคใต้จะทำช่องหน้าต่างแคบ ๆ หลังคาทำทรงจั่วถากจันทันให้แอ่นแบบเดียวกับเรือนไทย ภาคกลางแต่ทรวดทรงเตี้ยกว่าเล็กน้อย ติดแผ่นปั้นลมแบบหางปลา ไม่นิยมทำตัวเหงา

แหล่งที่มาข้อมูล  :  http://th.wikipedia.org/wiki

เรือนไทยภาคอีสาน


เรือนไทยภาคอีสาน



เรือนไทยภาคอีสาน  แบ่งการปลูกเรือนได้เป็น  3  ลักษณะ คือ
   1.ลักษณะชั่วคราว
       สร้างไว้ใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น " เถียงนา" หรือ "เถียงไฮ่" ทำยกพื้นสูงเสาไม้จริง โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมา จากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟากทำฝาโล่งหากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับ ได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
   2.ลักษณะกึ่งถาวร
       คือกระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก มีชื่อเรียก " เรือนเหย้า" หรือ " เฮือนย้าว" หรือ "เย่าเรือน " อาจเป็นแบบเรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบเรือนเครื่องสับก็ ได้ เรือนเหย้ากึ่งถาวรยังมี " ตูบต่อเล้า " ซึ่งเป็นเพิงที่สร้างอิงกับตัวเล้าข้าว และ "ดั้งต่อดิน" ซึ่งเป็น เรือนที่ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกมาจากเรือนใหญ่ เรือนเหย้ากึ่งถาวรอีกประเภทหนึ่ง คือ "ดั้งตั้งคาน" หรือ ดั้งตั้งขื่อ" ลักษณะคล้ายเรือนเกยทั่วไป แต่พิถีพิถันน้อยกว่า อยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก แตกต่างจากเรือนดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลาง จะลงมาพักบนคานของด้านสะกัด ไม่ต่อถึงดิน
    3.ลักษณะถาวร
        เป็นเรือนเครื่องสับหรือเรือนไม้กระดานอาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง ลักษณะใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ เรือน เครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่างมักทำ หน้าต่างเป็นช่องแคบ ๆ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อน ข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมี ลมพัดจัดและ
อากาศจัดจึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้หลังคาเรือนทำเป็นทรง จั่วอย่างเรือนไทยภาคกลางมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องไม้สักจั่วกรุ ด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง

เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน
   - ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ พอให้ยื่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น
   - ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่ากาแล
   - ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอหม้อ เหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาคอีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสา จึงไม่มีการตั้งบนตอหม้อ

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน
   1. เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า "เรือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
        1.1 ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย มักไม่มีการกั้นห้อง
        1.2 ห้องพ่อ-แม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือปล่อยโล่ง
        1.3 ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ฯลฯ
   2. เกย คือบริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน
   3. เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝด เช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคา จะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
   4. เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยก ออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน
   5. เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
   6. ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้างแอ่งน้ำ" อยู่ตรงขอบของ ชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ

แหล่งที่มาข้อมูล :    http://www.baanmaha.com/community/thread19790.html

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรือนไทยภาคกลาง

เรือนไทยภาคกลาง


         เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยประเภทที่นิยมที่สุด มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน รูปทรงล้มสอบ หลังคา ทรงสูงชายคายื่นยาว เพื่อกันฝนสาด แดดส่อง นิยมวางเรือนไปตามสภาพแวดล้อมทิศทางลมตามความเหมาะสม
ถือเป็นแบบฉบับของเรือนไทยเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี ในรูปแบบ เรือนฝาปะกนถือเป็น เรือนไทยแท้ เรือนไทยฝาปะกน คือเรือนที่ฝาทำจากไม้สัก มีไม้ลูกตั้งและลูกนอน และมีแผ่นไม้บางเข้าลิ้นประกบกัน สนิท หน้าจั่วก็ทำด้วยวิธีเดียวกัน เราจะพบเห็นเรือนไทยภาคกลาง รูปแบบต่าง ๆ อาทิ เรือนเดี่ยว เรือนหมู่ เรือนหมู่คหบดี และ เรือนแพ

       ประเภทเรือนไทยภาคกลาง
-  เรือนเดี่ยว
         เป็นเรือนสำหรับครอบครัวเดี่ยว สร้างขึ้นโดยมีประโยชน์ใช้สอยที่เพียงพอกับครอบครัวเล็ก ๆอาจ เป็นเรือนเครื่องผูกเรือนเครื่องสับ หรือผสมผสานกันก็เป็นได้แล้วแต่ฐานะ ประกอบด้วย เรือนนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ระเบียงยาว ตลอดเป็นตัวเชื่อมระหว่างห้องนอนกับชาน
-  เรือนหมู่
        เรือนหมู่ คือ เรือนหลายหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่เดียวกัน สมัยก่อนลูกชายแต่งงานส่วนใหญ่จะไปอยู่บ้านผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงจะนำเขยเข้าบ้าน จะอยู่เรือนหลังย่อมกว่า เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” อาจมี“หอนั่ง”ไว้สำหรับนั่งเล่น บางแห่งมี“หอนก” ไว้สำหรับเลี้ยงนก
-  เรือนหมู่คหบดี
         เรือนหมู่คหบดีโบราณ เป็นเรือนสำหรับผู้มีอันจะกิน ลักษณะการจัดเรือนหมู่คหบดีของโบราณเป็นเรือนขนาดใหญ่มีเรือนคู่และเรือนหลังเล็กหลังน้อยรวมเข้าด้วยกัน แต่ละหลังใช้ประโยชน์ต่างหน้าที่กันออกไป ประกอบด้วย เรือนนอน เรือนลูก เรือนขวาง เรือนครัว หอนก และชาน
-  เรือนแพ
         การสร้างบ้านบริเวณชายฝั่งต้องยกพื้นชั้นบนสูงมาก ไม่สะดวกในหน้าแล้งทำให้เกิดการสร้างเรือนในลักษณะ " เรือนแพ " ที่สามารถปรับระดับของตนเองขึ้นลงได้ตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง

       ลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง
          เรือนไทยภาคกลาง ยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินประมาณพ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลด หลั่นกัน พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน 40 เซนติเมตรพื้นชานลดจากระเบียงอีก 40 เซนติเมตรและปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับ พื้นทำให้ได้ประโยชน์ดังนี้ คือ ช่วยให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน สามารถมองลงมายังใต้ถุนชั้น ล่างได้ และใช้ระดับลด 40 เซนติเมตรไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า
          หลังคาทรงจั่วสูงชายคายื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็นแบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครงและใช้จาก แฝกหรือกระเบื้องดินเผาเป็นวัสดุมุงหลังคา วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคา ทรงสูงนี้ มีผลช่วยบรรเทาความร้อนที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัยหลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไปตรงส่วนของหน้า จั่วทั้ง 2 ด้าน ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่องหรือ ทำเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ชายคากันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก เพื่อกันแดดส่องและฝนสาด
          ชานกว้าง โดยทั่วไปมีปริมาณถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ 60 พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝา กั้นเป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่พื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมีปริมาณมาก เพราะดินฟ้าอากาศร้อนอบอ้าว

       
       องค์ประกอบต่างๆของเรือนไทยภาคกลาง

      งัว       กงพัด       แระ (ระแนะ)       เสาเรือน       รอด       รา       ตง       พรึง       พื้น       ฝักมะขาม       ฝา       กันสาด       เต้า
      สลัก-เดือย       ค้างคาว       หัวเทียน       ขื่อ       ดั้ง       อกไก่       จันทัน       แป       กลอน       ระแนง       เชิงชาย      ตะพานหนู
      ปั้นลม       หน้าจั่ว       หลังคา       ไขรา       คอสอง       ร่องตีนช้าง       ช่องแมวรอด       ประตูห้อง       ประตูรั้วชาน       หน้าต่าง

      กระได

แหล่งข้อมูลที่มา  :   http://th.wikipedia.org/wiki

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรือนไทยภาคเหนือ



เรือนไทยภาคเหนือ





       เรือนไทยภาคเหนือ เป็นเรือนยกใต้ถุนสูง คล้ายเรือนไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะอื่นๆ แตกต่างกันมาก เพราะดินฟ้าอากาศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ฤดูหนาวหนาวกว่าภาคกลางมาก ทำให้ลักษณะเฉพาะทางรูปทรงหลังคา และสัดส่วนของเรือนเตี้ยคลุ่มมากกว่า เจาะช่องหน้าต่างแคบๆ เล็กๆ กันลมหนาว การจัดกลุ่มอาคาร และการวางแปลนห้องต่างๆ มีความสมดุลแบบสองข้างไม่เหมือนกัน และเชื่อมต่อเรือนเหล่านั้นด้วยชานอย่างหลวมๆ เรือนทุกรูปแบบมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีคุณค่าทางศิลปะด้านสถาปัตยกรรมอย่างดียิ่ง เราจะพบเรือนทางภาคเหนือในลักษณะ ใหญ่ๆ ได้ ๒ แบบ คือ เรือนไทยดั้งเดิมและ เรือนพื้นบ้าน

เรือนไทยดั้งเดิม

       เป็นเรือนไทยยกใต้ถุน สูง หลังคาทรงจั่ว นิยมทำหลังคาแฝดติดกัน มีรางน้ำตรงกลาง ข้างบนสุดของหลังคา ทำไม้ไขว้แกะสลัก เรียกว่า "กาแล" เพื่อตกแต่งให้เกิดความงาม และเป็นคติความเชื่อถือเกี่ยวกับโชคลาง และการบูชา ลักษณะรูปทรงเป็นแบบฝาล้ม ผายออก เป็นศิลปะ และวัฒนธรรมแบบล้านนาไทยดั้งเดิม (ตรงข้ามกับเรือนไทยภาคกลาง ที่ฝาล้มสอบเข้า) 
เรือนมีรูปร่างลักษณะแบบแผนของแต่ละหลังแน่นอน และคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ จะแตกต่างกันบ้าง เช่น ขนาดของเรือน การวางครัว การจัดชาน แบบฝาแต่ละชนิด และการวางบันได รวมทั้งส่วนปลีกย่อยอื่นๆ เล็กน้อยเท่านั้น 
เรือนประเภทนี้ มีวิธีการก่อสร้าง และ ฝีมือช่างที่ละเอียดประณีต เป็นเรือนที่ถาวร และทนทาน มีอายุอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปีขึ้นไป จะพบได้ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดเชียงใหม่ และในจังหวัดลำปาง เรือนประกอบด้วย อาคารอย่างน้อย ๒ หลัง หลังใหญ่ใช้เป็นที่หลับนอน มีห้องนอน และระเบียง (เติ๋น) ส่วนหลังเล็กใช้ทำเป็นครัวปรุงอาหาร เชื่อมเรือนทั้งสองด้วยชาน ด้านหนึ่งของชานเป็นบันได และร้านน้ำ (ร้านน้ำ คือ เรือนหลังเล็กๆ มีหลังคา อยู่ริมนอกชานชั้นบน ใช้สำหรับตั้งตุ่มน้ำดื่ม) 

เรือนห้องนอนเดี่ยว 

       เป็นเรือนครอบครัวเล็ก มีห้องนอน ๑ ห้อง มีทั้งแบบแยกครัว โดยใช้ทางเดินแคบๆ ผ่านกลาง (ฮ่อม) และแบบไม่แยกครัว ด้านหน้าเป็นระเบียงและชาน ริมสุดของชานจะมีร้านน้ำ และบันได ถ้าเรือนแยกครัว หลังคาครัวจะมีทั้งแผดกับเรือนนอน และแยกขวางกับเรือนนอน 

เรือนห้องนอนสองห้อง 

       เป็นเรือนครอบครัวใหญ่ มีห้องนอน ๒ ห้อง ด้านหน้าเป็นระเบียง แบ่งห้องนอนทั้งสองด้วยทางเดินแคบๆ ส่วนบนของทางเดินมีรางน้ำยาวตลอด เรียกส่วนนี้ว่า ฮ่อมริน หลังคาเรือนนอนเป็นหลังคาแฝด ครัวแยกออกต่างหากอีกหลังหนึ่ง มีขนาดเล็กกว่าเรือนนอน เชื่อมเรือนทุกหลังด้วยชานแบบหลวมๆ ส่วนด้านหนึ่งทำเป็นร้านน้ำ สำหรับตั้งตุ่มน้ำดื่ม มีหลังคาคลุม ปลายสุดของชานเป็นบันได
       โดยทั่วไปแล้ว เรือนมักจะหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อรับลมฤดูร้อน ส่วนบันไดตั้งอยู่ทางด้านหน้า หรือด้านข้างของตัวเรือน ถ้าอยู่ด้านข้าง จะถอยบันไดเข้าไป ๑ ช่วงเสา ตั้งอยู่ใต้ชายคา ไม่นิยมหันบันไดลงทางทิศตะวันตก 
เรือนครัวส่วนมากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เพื่อช่วยกันความร้อนในตอนบ่าย สำหรับเรือนใหญ่จะมีบันไดอยู่หลังครัวอีก ๑ บันได 

       โครงสร้างทั่วไปจะใช้ไม้จริง เช่น ไม้เต็ง รัง สัก และตะเคียน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และใช้ระบบเสาและคาน ลักษณะเสาเป็นเสากลม หรือแปดเหลี่ยม เมื่อการก่อสร้างเจริญก้าวหน้า ได้มีการทำแบบสำเร็จรูปเป็นบางส่วน เช่น ฝาผนัง จั่ว และบันได เป็นต้น ด้านหน้า หรือด้านข้างของเรือนนอน นิยมปลูกยุ้งข้าวไว้ ๑ หลัง มีลักษณะเป็นเสากลม หรือแปดเหลี่ยม พื้นยกสูงพอพ้นศีรษะ มีคานไม้ยื่นออกมาโดยรอบ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ใช้ฝาไม้จริงปิดทึบโดยรอบไว้ สำหรับเก็บข้าวเปลือก เกือบทุกบ้าน จะขุดบ่อน้ำไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อใช้บริโภค และอุปโภค อาจจะมีลักษณะกลมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้ 

เรือนพื้นบ้าน 
เรือนพื้นบ้าน แบ่งออกเป็นเรือนชั่วคราว และเรือนถาวร
       เรือนชั่วคราว หรือเรือนเครื่องผูก ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตูบ" หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ ใช้เสาไม้ไผ่ พื้นทำด้วยไม้สาน หรือฟากสับ ฝาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือแผงไม้ซางสานเป็นลายต่างๆ เช่น ลายอำ โครงหลังคาก็ทำด้วยไม้ไผ่เช่นกัน การยึดโครงสร้างต่างๆ คล้ายเรือนพื้นบ้านภาคกลาง เรียกว่า เรือนเครื่องผูก ใช้วิธีเจาะรู และฝังเดือย ผูกด้วยตอกหรือหวาย หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือใบตองตึง มีห้องนอน ๑ ห้อง ไม่แยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน ใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว เช่น กระต๊อบเฝ้าทุ่ง หรือสร้างเป็นเรือนชั่วคราว สำหรับครอบครัวหนึ่งๆ ก่อนที่จะสร้างเรือนถาวรขึ้นภายหลัง 
เรือนถาวร หรือเรือนไม้จริง เป็นเรือนที่พัฒนาขึ้นมาจากเรือนแบบชั่วคราว รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากเรือนจั่วกาแลที่มีแบบแผน ฉะนั้น ลักษณะทั่วไปจึงดูเหมือนเรือนลูกผสม โดยยกใต้ถุนสูงประมาณ ๑.๕-๒ เมตร เสาและพื้นส่วนใหญ่ใช้ไม้เบญจพรรณชนิดถาก แต่งรูปไม่ค่อยเรียบร้อย หลังคาทรงจั่ว ด้านหน้ามีกันสาด คล้ายหลังคาเรือนชาวเขา ยื่นส่วนหนึ่งของกันสาดออกมาคลุมบันได โดยใช้เสา ๒ ต้นรับ โครงสร้างหลังคามีทั้งไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินเผา และโครงไม้ไผ่มุงด้วยใบตองตึง หลังคามุงด้วยใบตองตึง มีเป็นจำนวนมาก ฝาผนังใช้ไม้สานเป็นแบบลำแพน ลายอำ ลายตาล ไม้ไผ่ขัดแตะ ไม้ซางทุบเรียบ หรือใช้ไม้จริงตีนอน เป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นใกล้เคียง และราคาถูก
       ตัวเรือน ประกอบด้วยห้องนอน เป็นห้องสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านในสุดของเรือน ปิดด้วยฝาสี่ด้าน ส่วนบนเว้นช่องระบายอากาศ ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง อาจมีบางหลังเจาะไว้เป็นช่องเล็กๆ บ้าง มีประตู ๑ บาน พื้นใช้ไม้จริงปูเรียบ 
ระเบียง อยู่ส่วนหน้าของห้องนอน เป็นส่วนที่กึ่งเปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งเล่น รับแขก พักผ่อน และใช้เป็นที่นอนของแขกที่มาพัก หากมีลูกสาว ก็ให้ลูกสาวนอนในห้องนอน ส่วนพ่อแม่นั้นจะออกมานอนที่ระเบียงนี้ บางหลังมีระเบียงขนาดยาวเลยไปถึงหน้าห้องครัว ใช้ส่วนนี้เป็นที่รับประทานอาหาร พื้นเป็นไม้จริงเหมือนกับพื้นห้องนอน 
       ชาน อยู่ส่วนหน้าสุดของตัวเรือน เป็นที่ เปิดโล่งมีรั้วโปร่งเตี้ยๆ สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตรกั้นโดยรอบ สำหรับไว้นั่งเล่นตอนเย็น ตากผลไม้ หรือตากผ้า พื้นชานใช้ไม้จริงตีเว้น ร่องโปร่ง เรือนพื้นบ้านแบบเรือนถาวรอาจจะ ไม่มีชานก็ได้ 
ครัวไฟ อยู่ด้านหลังสุด ซีกด้านข้างกั้น ด้วยฝาเป็นบางส่วน ด้านบนทำช่องระบายควันไฟ มุมหนึ่งของห้องทำพื้นยกขอบใส่ดินเรียบเป็นที่วางเตาไฟ ที่ฝาผนังอาจทำชั้นไว้ของยื่นออกไปนอกตัวเรือนตรงส่วนบน 
       บันได ถอยร่นเข้าไปในตัวเรือน ๑ ช่วงเสา หรือพาดขึ้นตรงด้านหน้าติดกับชาน ยื่นหลังคากันสาดออกมาคลุม ใช้ไม้จริงเข้าเดือย และตอกสลัก ไม่นิยมหันลงมาทางทิศตะวันตก ที่เชิงบันไดตั้งตุ่มดินใส่น้ำไว้ล้างเท้า 
       ร้านน้ำ ต่อชั้นไม้ยื่นออกมา สูงจากระเบียงหรือชาน ๐.๘-๑ เมตร ตั้งอยู่ใกล้บันได เพื่อตั้งตุ่มดินใส่น้ำดื่ม

แหล่งที่มาข้อมูล :  http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=13&chap=1&page=t13-1-infodetail03.html

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะทั่วไปของเรือนไทย



เรือนไทย คือบ้านทรงไทย มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละภาค โดยสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยสมัยก่อนและแสดงออกถึงเรือนไทย คือบ้านทรงไทย มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละภาค โดยสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยสมัยก่อนและแสดงออกถึงภูมิปัญญาไทย ทั้งนี้องค์ประกอบที่มีผลต่อรูปแบบเรือนไทยมีทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ คติความเชื่อและศาสนาในแต่ละภูมิภาค โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น  เรือนไทยภาคเหนือ   เรือนไทยภาคกลาง   เรือนไทยภาคอีสานและเรือนไทยภาคใต้
ลักษณะทั่วไปของเรือนไทย
เรือนไทยสามารถจำออกเป็นหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตัว ได้แก่ เรือนเครื่องสับ, เรือนเครื่องผูก, เรือนเครื่องก่อ ในที่นี้เราจะอนุมานถึงเรือนไทยเครื่องสับเนื่องจากเป็นเรือนไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดโดยมากใช้เป็นเรือนสำหรับอยู่อาศัยตั้งแต่สามัญชน คนธรรมดาตลอดจนผู้มีฐานานุศักดิ์ชั้นสูงในสังคม
 เรือนไทยเครื่องสับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้หรือวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติตามท้องถิ่นนั้นๆ มักสร้างด้วยวิธีประกอบสำเร็จรูปทั้งในเรือนเครื่องสับและเรือนเครื่องผูก สามารถรื้อถอนขนย้ายไปปลูกสร้างที่อื่นได้
มีหลังคาทรงสูง ทรงสูงจะทำให้การระบายน้ำออกจากหลังคารวดเร็ว และช่วยลดความเสี่ยงจากการรั่วซึมของหลังคาอีกด้วย เมื่อสังเกตที่ชายหลังคาจะเห็นว่า มีกันสาด ยาวตลอดเพื่อป้องกันแสงแดดจัด ที่ปลายทั้งสองด้านของหลังคาจะมียอดแหลมเรียกว่า “เหงา” เนื่องจากความเชื่อในสมัยก่อนที่ชาวบ้านนิยมนำเขาสัตว์มาแขวน บริเวณเชิงหลังคาเพื่อป้องกันและขับไล่ทูตผีปีศาจและวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้าน
มีพื้นที่โล่งใต้เรือนไทยเรียกว่าบริเวณใต้ถุน โดยแต่เดิมบริเวณใต้ถุน บ้านจะถูกปล่อยไว้มิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อาจเป็นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์การกสิกรรม หรือเป็นที่ทำหัตถกรรมนอกฤดูเก็บเกี่ยว แต่โดยมากมัก จะถูกทิ้งร้างมิได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมบริเวณใต้ถุนบ้านทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้การเลือกบริเวณที่อยู่อาศัย ให้มีน้ำท่วมถึงเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนไทยในสมัยโบราณเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งนี้การยกเรือนไทยสูงจากพื้นยังช่วยป้องกันสัตว์ร้ายที่อาจมากับน้ำ เช่น งู หรือ ตะขาบได้อีกด้วย
เรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนขยายคือจะมีการขยายโดยสร้างเรือนไทยใหม่ที่อยู่ในบริเวณเรือนเก่า โดยจะเชื่อมต่อโดยใช้ “นอกชาน” เชื่อม เรือนไทยแต่ละเรือนไว้ด้วยกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อครอบครัวมีสมาชิกใหม่ก็จะสร้างเรือนใหม่ไว้ใกล้เรือนเก่าของพ่อแม่โดยจะรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน
การยึดเรือนไว้ด้วยกันจะไม่ใช้ตะปู แต่จะใช้เทคนิคการเข้าเดือยไม้ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของเรือนเครื่องสับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  :   http://th.wikipedia.org/wiki