วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรือนพื้นบ้านชาวประมง

เรือนพื้นบ้านชาวประมง

         ผู้มีอาชีพประมงอาศัยการจับสัตว์น้ำ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ และตามลำน้ำทั่วไป โดยจะตั้งหมู่บ้าน ตามสภาพภูมิประเทศ ที่เอื้ออำนวยต่อความสะดวก ในการดำรงชีวิต เช่น แถบปากแม่น้ำ ริมขอบทะเลอ่าวไทย ตามเกาะชายฝั่งในมหาสมุทรอินเดีย แถบอ่าวภูเก็ต และทะเลอันดามัน นอกจากนั้น สภาพลมฟ้าอากาศก็มีผลต่อการเกิด โยกย้าย และเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านดังกล่าวด้วย
  
   จากสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพลมฟ้าอากาศนี้ ทำให้เกิดหมู่บ้านชาวประมงขึ้นได้ ๒ ลักษณะ
   ๑. หมู่บ้านริมทะเล
         เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้น จากผลของการประกอบอาชีพโดยตรง เพราะชาวประมงจะเลือกทำเลในการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม
แล้วจึงตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมทะเลนั้นๆ เพื่อสะดวกในการออกทะเลทุกวัน และสะดวกในการนำเรือเข้าออก เมื่อเวลาออกจับสัตว์น้ำ และนำขึ้นฝั่ง เพื่อส่งไปจำหน่ายเป็นสินค้า หมู่บ้านจะขยายตัวไปตามความยาวของชายฝั่งทะเล การเลือกที่ตั้งหมู่บ้านเหล่านี้ มักจะพยายามหลบลมมรสุม โดยหาที่ตั้งที่เป็นอ่าว มีภูเขากำบัง หรือมีหมู่ต้นไม้ใหญ่บังลม เช่น ดงมะพร้าว ดงแสม และป่าโกงกาง เพื่อทำหน้าที่เป็นแนวต้านลม หมู่บ้านเหล่านี้มีทั้งชาวประมงน้ำตื้น (จับสัตว์น้ำตามชายฝั่ง) และประมงน้ำลึก ส่วนมากเป็นประมงน้ำตื้น เพราะประมงน้ำลึก ต้องใช้ทุนในการประกอบอาชีพสูง ประมงน้ำตื้นนี้ จึงทำให้เกิดลักษณะเรือนชาวประมงริมทะเลขึ้นอีกแบบหนึ่ง เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยให้กับเครื่องมือจับสัตว์น้ำ คือ มีการสร้างสะพานทางเดินให้ยาวทอดออกไปริมทะเลสุดชายหาด และตรงปลายสะพานจะมีเรือนพักสินค้าหลังใหญ่ใช้ร่วมกัน เรียกว่า "โรงโป๊ะ" เนื่องจากใช้โป๊ะเป็นเครื่องมือจับปลา ส่วนช่วงระหว่างสะพานทำเป็นที่จอดเรือขนส่งสินค้า
   ๒.หมู่บ้านริมแม่น้ำลำคลอง
         เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กับทางออกสู่ทะเล บริเวณปากแม่น้ำ หรือปากคลอง และขยายตัวเป็นแถวลึกเข้าไป เป็นทำเลที่เหมาะในการตั้งบ้านเรือน เพราะหลบลมมรสุมได้ดี เรือนพักอาศัยสามารถต่อเติมชายคายื่นยาวได้มาก แต่ต้องทำท่าน้ำขนส่งสินค้าหลายระดับ เพื่อความเหมาะสมในเวลาน้ำขึ้น และน้ำลง

ลักษณะเรือนพื้นบ้านชาวประมง
         เรือนพื้นบ้านชาวประมง เป็นเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมทะเลอ่าวไทย เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และเกาะลันตา กระบี่ เป็นต้น เป็นเรือนยกใต้ถุงสูงประมาณ ๓ เมตร ประเภทเรือนเครื่องผูกผสม ชนิดครึ่งน้ำครึ่งบก หรือชนิดบนบก หลังคาทรงจั่วมุงด้วยจาก โครงไม้ทั่วไปเป็นไม้ไผ่ เสาเดิมเป็นไม้ไผ่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นไม้เบญจพรรณ (ไม้จริง หรือไม้เนื้อแข็ง) พื้นเดิมเป็นพื้นฟาก ต่อมาเปลี่ยนเป็นพื้นไม้จริง ฝาไม้ไผ่ขัดแตะโปร่ง ระบายอากาศได้ดี ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง ด้านหนึ่งทำเป็นชานลดระดับ มีสะพานทางเดินติดต่อไปยังกลุ่มเรือนหลังอื่นๆ ซึ่งเป็นเครือญาติ หรือเพื่อนบ้าน ด้านที่ติดชานจะลดระดับทำท่าน้ำเทียบเรือ ด้านหนึ่งของเรือนที่หันออกสู่แม่น้ำ หรือทะเล จะปักเสาไม้ไผ่ไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อกันคลื่น มีชานกว้างด้านหน้า นอกจากจะใช้ประโยชน์ขนสินค้าขึ้นลงแล้ว ยังใช้พื้นที่นี้ตากปลาที่ทำเค็มไว้ให้แห้ง ตลอดจนเก็บหมักสินค้าบางชนิดด้วย การประกอบอาชีพเจริญขึ้นตามลำดับ ทำให้ชาวประมงที่อยู่เรือนเครื่องผูกชั่วคราว มีฐานะดีขึ้น ได้เปลี่ยนเป็นเรือนไม้จริงถาวรในภายหลังเป็นจำนวนมาก
 แหล่งที่มาข้อมูล   :  http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=13&chap=1&page=t13-1-infodetail05.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น